Previous
Next
เวลาเราจินตนาการผู้มีอัจฉริยภาพในวิชากลุ่ม STEM (Science, Technology, Engineering, Mathematics) แอดมินคิดว่าคนส่วนใหญ่จะคิดถึงเด็กเนิร์ด ตัวซีด ๆ วัน ๆ นั่งอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ หรือรากงอกอยู่กับโต๊ะเขียนหนังสือ ในมือก็ขีด ๆ เขียน ๆ สมการอะไรก็ไม่รู้ที่ดูแทบไม่เป็นภาษา
และหลาย ๆ คนก็ถูกหลอกด้วยภาพจำเหล่านั้น จนเข้าใจว่าถ้าอยากให้ลูกเก่งเลข เก่งวิทยาศาสตร์ การจับเขาแก้สมการและจินตนาการถึงพันธะโคเวเลนต์ จะช่วยให้เด็กเป็นอัจฉริยะได้
แต่ผลวิจัยไม่ได้บอกเช่นนั้น แต่กลับเป็นไปในทางตรงกันข้าม เมื่อนักวิจัยพบความสัมพันธ์ที่สอดคล้องกันว่า นักคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ วิศวกร และนักประดิษฐ์ ต่างก็มีความฉลาดด้านมิติสัมพันธ์ในระดับสูง และอัจฉริยภาพด้านนี้ ส่วนหนึ่งก็ได้มาจากการที่คนกลุ่มนี้ได้วิ่งเล่น ได้ออกไปใช้ชีวิตข้างนอก เพราะกิจกรรมต่าง ๆ เหล่านี้ จะทำให้เด็กได้เรียนรู้เรื่อง ตำแหน่ง ระยะ และมิติ ซึ่งเป็นปัจจัยของความฉลาดด้านมิติสัมพันธ์ได้เป็นอย่างดี
ทั้งนี้เนื่องจากทั้งคณิตและวิทย์ เป็นวิชาที่ต้องแปลความจริงและจินตนาการ (เพราะบางอย่างที่ยังไม่ได้ถูกค้นพบและพิสูจน์ไม่ได้ เรารับรู้ได้ผ่านจินตนาการเท่านั้น)ออกมาเป็นตาราง เป็นกราฟ เป็นภาพ ให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งเล็กจิ๋วอย่างพันธะทางเคมี เซลล์ อีเลคตรอน โปรตรอน หรืออะไรที่ใหญ่ยักษ์อย่าง ดวงดาว และจักรวาล นักคณิตและวิทย์ต่างต้องสร้างภาพในหัวเพื่อสกัดเอาหลักคิดออกมาใช้สื่อสารกับคนอื่น และนั่นก็ทำให้เขาเหล่านั้นต้องเป็นสุดยอดของอัจฉริยะด้านมิติสัมพันธ์เท่านั้นจึงจะทำได้
โอกาสบางโอกาสผ่านไปแล้วจะผ่านไปเลย พัฒนาการของเด็กหลาย ๆ อย่างก็เป็นเช่นนั้น เด็กเป็นวัยที่สมควรได้วิ่งเล่น ได้ค้นพบ ได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติ หากเรามองพัฒนาการให้ลึกๆ จะพบว่าทุกอย่างเป็นองค์รวม ร่างกาย สมอง จิตใจ ต่างเชื่อมโยงกัน สมองจะไม่พัฒนาหากร่างกายไม่ได้ถูกขับเคลื่อน พาลส่งผลถึงจิตใจแล้ววนมาสู่สมองและร่างกายเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ
ช่วงนี้อากาศไม่ร้อนมาก สถานการณ์โควิดก็ดีขึ้นแล้ว… ออกไปวิ่งเล่นกันเถอะค่ะ
cr:
https://bold.expert/the-connection-between-spatial-intelligence-and-stem/
https://www.oecd.org/officialdocuments/publicdisplaydocumentpdf/?cote=EDU/WKP(2017)10&docLanguage=En
https://www.globalcognition.org/building-spatial-thinking-improves-stem-success/