Site Overlay

พี่น้องทะเลาะกันทำยังไง

Previous
Next

สวัสดีค่ะ วันนี้แอดมินขอนำบทความหนึ่งของ ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร อาจารย์ประจำสาขาพัฒนาการมนุษย์ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาการเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล มาทำเป็นภาพให้อ่านกันง่าย ๆ นะคะ

เรื่องพี่น้องทะเลาะกันนั้นเป็นปัญหาที่ทุกบ้านต้องเคยเผชิญแน่นอน มาเรียนรู้กันนะคะว่าเราจะรับมือกับเรื่องนี้อย่างไรดี อาจารย์ว่าไว้อย่างนี้ค่ะ

คงไม่มีเรื่องใดสำหรับพ่อแม่ที่จะเป็นทุกข์หรือเศร้าใจมากไปกว่าการที่เห็นลูกๆ สุดที่รักทะเลาะ หรือขัดแย้งกัน แต่ปัญหานี้ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้กับทุกครอบครัว และสามารถคลี่คลายให้เกิดผลดีต่อตัวเด็ก และพ่อแม่ได้ หากมีวิธีจัดการอย่างเหมาะสม

แต่การแก้ปัญหาของพ่อแม่หลายๆ ท่าน เป็นสิ่งที่ ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร อาจารย์ประจำสาขาพัฒนาการมนุษย์ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาการเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กปฐมวัย มองว่า ยังไม่เหมาะสมเท่าที่ควร โดยส่วนใหญ่มักจะใช้วิธีเปรียบเทียบ หรือเข้าไปตัดสินเด็ก แทนที่จะเข้าไปสอนให้เด็กรู้จักวิธีลดความโกรธ และส่งเสริมให้เรียนรู้วิธีที่จะหาทางออกอย่างสร้างสรรค์ ทำให้เกิดผลเสียต่อเด็ก และพ่อแม่ โดยเฉพาะวิธีแก้ปัญหาที่เกิดจากการที่เด็กรู้สึกว่า พ่อแม่ไม่ยุติธรรม หรือรักลูกไม่เท่ากัน

“การเข้าไปตัดสินเด็ก เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง เพราะการเข้าไปบอกว่า ลูกคนนี้ผิด คนนั้นถูก พ่อแม่จะกลายเป็นคนที่ไม่ยุติธรรมสำหรับเด็กทันที และยิ่งจะเพิ่มความร้อนแรงให้เด็กๆ เกิดความรู้สึกอิจฉา หรือชิงดีชิงเด่นกัน วิธีแก้คือ ให้เขาจัดการกันเองค่ะ ไม่ต้องไปสนใจว่า ใครทำใครก่อน ใครหยิบของเล่นชิ้นนี้มาก่อน ไม่ต้องสนใจค่ะ มันคือธรรมชาติของเด็ก ยิ่งเราไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ด้วยแล้ว ยิ่งไม่ควรเข้าไปตัดสินเลย ถ้าเราเข้าไปตัดสิน เราจะยิ่งเข้าไปสร้างนิสัยการแก้ตัวให้แก่เด็ก”

“ดังนั้น เด็กควรจะได้รับอิสระให้แก้ไขปัญหาความขัดแย้งกันเอง เช่น “เมื่อสักครู่นี้ แม่ยังเห็นเล่นกันอยู่ดีๆ เลย แล้วมาทะเลาะกันแบบนี้ ถ้าอย่างนั้น เล่นกันต่อนะ แม่เชื่อว่า ลูกเป็นพี่น้องกัน ลูกของแม่จะต้องแก้ปัญหากันเองได้” แต่ถ้าเห็นว่า มีการทำร้ายร่างกายกัน ให้เข้าไปจับแยก และสอนว่า บ้านเราไม่ตีกันแบบนี้ หรือลองใช้วิธีให้น้องถามพี่ดูสิว่า พี่จะเล่นอีก 1 หรือ 2 นาที ถ้าบอกว่า อีก 2 นาทีให้ตั้งเวลาเล่นเลย ครบ 2 นาทีแล้วเปลี่ยนมาให้น้องเล่นบ้าง พอน้องเล่น ก็ให้พี่ถามเลยน้องเช่นเดียวกันว่า จะเล่นกี่นาที เป็นต้น” ดร.ปนัดดา ให้แนวทาง