Site Overlay
Previous
Next

สังเกตไหมคะว่ารอบ ๆ ตัวเรามีคนเป็น #ภูมิแพ้ หรือหอบหืดไม่น้อย โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ ๆ ทั้ง ๆ ที่วิทยาการแพทย์ก้าวหน้า และความเป็นอยู่ดีขึ้น สะอาดสะอ้าน แต่ทำไมโรคนี้ถึงได้ผุดขึ้นมามากมายเป็นดอกเห็ด?

คำถามนี้เป็นคำถามเดียวกับคุณหมอหลาย ๆ คนในตลอด 200 ปีที่ผ่านมา (อ้อ!! หมายความว่าโรคนี้เพิ่งเกิดมาไม่นานนี้เองสินะ) รายงานทางการแพทย์ฉบับแรก ๆ เกี่ยวกับโรคนี้ เพิ่งเกิดขึ้นในปี 1819 โดยหมอ จอห์น โบสต๊อก ที่บันทึกอาการของผู้ป่วยและวิธีรักษาที่ทดลองว่า ไม่ว่าจะเป็นการใช้มอร์ฟีน การแช่น้ำเย็นจัด การหลั่งเลือด (Bloodletting) ก็ไม่ได้ทำให้อาการดีขึ้น วิธีการเดียวที่ดูเหมือนจะได้ผลก็คือ การขังตัวเองในบ้าน จนเชื่อกันว่า มีปัจจัยบางอย่างนอกบ้านที่เป็นต้นเหตุของปัญหาทั้งหมด

และหลังจากนั้นก็ค่อย ๆ มีแพทย์ให้ความสนใจอาการเหล่านี้มากขึ้น จากที่เคยเป็นกลุ่มอาการที่หมอไม่มองว่าเป็นโรค สุดท้ายใน คศ. 1843 อาการนี้ก็ถูกเรียกว่า Hay Fever เนื่องคนไข้ส่วนใหญ่ให้ข้อมูลว่าผดผื่นและน้ำมูกไหลจะถูกกระตุ้นเมื่อได้กลิ่นฟางข้าว จากนั้นโรค Hay Fever ก็ถูกนำไปสอนและเขียนในตำราแพทย์ที่ King’s college เป็นครั้งแรกโดยหมอ โทมัส วัตสัน นับแต่นั้นมาอาการคัดจมูกน้ำมูกไหลที่ว่า ก็เปลี่ยนสถานะเป็นโรคที่หมอสนใจและหาทางรักษาอย่างเป็นทางการ

แม้โรคนี้จะเข้ามาอยู่ในความสนใจของเหล่าแพทย์มากขึ้น แต่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคนี้ก็เป็นไปอย่างเชื่องช้า กว่าคุณหมอในประเทศต่าง ๆ จะค่อย ๆ ทดสอบและเก็บข้อมูล จนได้จิ๊กซอว์มากชิ้นพอที่จะบอกได้ถึงสาเหตุของโรคนี้ ก็เพิ่งไม่นานมานี้นี่เอง

แอดมินยกตัวอย่างจิ๊กซอว์ต่าง ๆ ที่ว่ามาให้ดูคร่าว ๆ พร้อมบทสรุปตามที่เห็นในโพสต์นะคะ ถ้าหากใครสนใจอยากอ่านละเอียด แนะนำให้ลองไปซื้อหนังสือ “เพื่อนเก่าที่หายสาบสูญ: สุขภาพดีด้วยการดูแลระบบนิเวศในร่างกาย” เขียนโดย นพ.ชัชพล เกียรติขจรธาดา หนังสืออ่านสนุกเข้าใจง่ายมากเลยค่ะ (แอดมินเป็นแฟนหนังสือคุณหมอ อ่านแล้วชอบเลยแนะนำเอง ไม่ได้ค่าโฆษณานะคะ)