Site Overlay

สีชมพู – ฟ้า มาได้ไง?

Previous
Next

สีชมพู – ฟ้า มาได้ไง? และส่งผลอย่างไรกับเด็ก?

เคยสงสัยกันไหมคะว่า
– ทำไมเด็กผู้ชายต้องใช้ของสีฟ้า และเด็กผู้หญิงต้องเป็นสีชมพู
– ใครเป็นคนกำหนดวัฒนธรรม ฟ้า-ชมพู นี้
– แล้วมันจะส่งผลต่อเด็กอย่างไร

แอดมินเจอเด็กผู้หญิงที่หลงใหลคลั่งไคล้สีชมพูบ่อยมาก ยิ่งนานวันความคลั่งไคล้นี้ก็มากขึ้นๆ จากที่เห็นแค่แต่งชุดสีชมพู ก็กลายเป็นของทุกชิ้นจะต้องมีสีชมพูประกอบอยู่ เรียกว่าทุกอณูช่างหวานแหววแต๋วกระจายกันไป ส่วนผู้ชายก็ไม่แพ้กัน แค่เปลี่ยนจากสีชมพูเป็นสีฟ้า ความบ้าคลั่งยังเหมือนเดิม

หลังเกิดคำถามในใจแอดมินก็ไม่รอช้า รีบค้นคว้าหาคำตอบทันที ได้ความมาดังนี้ค่ะ

จากการศึกษาภาพถ่ายสมัยโบราณเมื่อประมาณ 200 ปีมาแล้ว พบว่า ในสมัยก่อนเด็ก ๆ จะนุ่งชุดเดรสสีขาวล้วน ที่สามารถถอดผ้าอ้อมมาทำความสะอาดได้ง่าย ๆ ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากสีขาวนั้นง่ายต่อการกัดสีทำความสะอาด (bleach) เด็ก ๆ จะนุ่งชุดเดรสแบบนี้ไปจนถึงประมาณอายุ 6 ขวบ เดรสลักษณะนี้ในสมัยนั้นถือเป็นเรื่องปรกติธรรมด๊าธรรมดา ไม่มีใครลุกขึ้นมาบอกว่าให้เด็กผู้ชายนุ่งกระโปรงแล้วเขาจะโตมาเป็นกระเทย

ช่วงต้นศตวรรษที่ 19 วัฒนธรรมฟ้า-ชมพู ก็ค่อย ๆ คืบคลานเข้ามา แต่ก็ยังไม่ใช่แบบที่เราเห็นในทุกวันนี้ มันมีความหลายหลายทางความคิดมากกว่าที่เราคิด เช่น ในปี 1918 บนโบรชัวร์ของห้างขายของสำหรับเด็ก Earnshaw’s Infants’ Department เขียนว่า สีชมพูเป็นสีที่แรงกว่าจึงเหมาะกับเด็กผู้ชาย ส่วนสีฟ้านั้นนุ่มนวลกว่า จึงเหมาะกับเด็กผู้หญิงมากกว่า ในขณะที่อีกอีกสื่อหนึ่งบอกว่า สีฟ้านั้นเหมาะกับผมบลอนด์ และสีชมพูเหมาะกับผมสีน้ำตาล หรือบ้างก็ว่า สีฟ้าสำหรับเด็กตาสีฟ้า สีชมพูสำหรับเด็กที่มีดวงตาสีน้ำตาล

จนกระทั่งช่วงปี 1940 ภาคธุรกิจก็เริ่มหัวใส แบ่งสีสำหรับเด็กชาย-หญิง ทำให้เด็ก ๆ รุ่น Baby Boomer ทั้งหลายเติบโตมากับวัฒนธรรมนี้ แต่เทรนด์สีฟ้า-ชมพูนี้ก็ถูกยิงตกไปหลังจากเกิดความตื่นตัวด้านความเสมอภาคทางเพศในช่วงปี 60-70 (women’s liberation movement) ซึ่งผู้คนหันไปนิยมสีที่ไม่เจาะจงเพศ (unisex)

หลังจากกระแส women movement เริ่มแผ่ว พ่อแม่ทั้งหลายก็ถูกบริโภคนิยมโจมตี หลอกล่ออย่างหนักหน่วง ผนวกกับเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่สามารถรู้เพศลูกได้ตั้งแต่อยู่ในท้อง นักธุรกิจก็เห็นโอกาสงามในการขาย เพราะเมื่อรู้เพศแล้ว พ่อแม่ก็เริ่มคิดตั้งชื่อลูก คิดจัดห้อง ซื้อของไว้รอการมาถึงของเบบี๋น้อยเข้ามาอยู่ เพื่อนๆ ญาติๆ ก็เตรียมควักกระเป๋าหาซื้อของให้เด็กที่กำลังเกิด ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเงินมหาศาล มีหรือที่ภาคธุรกิจจะปล่อยโอกาสนี้ให้หลุดลอยไป ทำให้เกิดการกลับมาของวัฒนธรรมสีฟ้า-ชมพูเป็นระลอกที่ 2 และคราวนี้มันมาแรงกว่าเดิม ซึ่งทั้งบาร์บี้และซุปเปอร์ฮีโร่ทั้งหลายมีส่วนอย่างมากกับวัฒนธรรมฟ้า-ชมพูนี้

ข้อที่น่าชวนกันคิดจากเรื่องนี้ก็คือ เด็กเริ่มตระหนักถึงเพศของตัวเองเมื่ออายุ 3-4 ขวบ และค่อย ๆ ทำความเข้าใจ ซึ่งจะใช้เวลา 3-4 ปี ประมาณไม่เกิน 7 ขวบ เขาจึงจะเข้าใจลึกซึ้งขึ้นเรื่องเพศชายเพศหญิง และเราไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่าในวัยเด็กการแบ่งเพศด้วยตานั้น ง่ายกว่าการเข้าใจความหมายที่ลึกซึ้งของมันซึ่งเป็นเรื่องนามธรรม ทำให้พวกเขาก่อร่างความคิดว่า ถ้าผมยาว ใส่กระโปรง หรือสีชมพู คนนั้นคือผู้หญิง

ฟัง ๆ ดูเราอาจคิดว่าก็ไม่เห็นจะเป็นอะไร ไม่ใช่เรื่องใหญ่โต เพราะจากสถิติ ความคลั่งใคล้สีฟ้า-ชมพูนี้จะหมดไปเมื่อเด็กอายุประมาณ 10 ขวบ แต่ความคิดที่ก่อร่างสร้างตัวในวัยเด็กนั้นมีความแข็งแรงมาก มีส่วนสำคัญในการสร้างตัวตนในอนาคต การสร้างไอเดียความสุดโต่งให้เขาอย่างชายสุดขั้ว หญิงสุดขีด (ผู้ชายคือสีฟ้า คือซุปเปอร์ฮีโร่ ผู้พิทักษ์โลก ผู้หญิงคือสีชมพู กระโปรงฟูฟ่อง เป็นเจ้าหญิงผู้อ่อนหวาน) อาจสร้างโลกแนวขาว-ดำให้กับเขา

การมอบโอกาสให้ลูกได้เห็นความหลากหลาย จะมอบความคิด ไอเดียที่หลากหลายให้กับเด็กด้วยเช่นกัน ฝรั่งเรียกว่าทำให้เห็น stectrum ของสิ่งต่าง ๆ เห็นความหลากหลายและสวยงามของโลก เราคงไม่อยากให้ลูกมองรุ้งแล้วเห็นแค่ม่วงกับแดง เพราะรุ้ง 7 สีมัน cool ว่า 2 สีจะตายไป จริงไหมคะ

อ่านเพิ่มเติมได้ที่

https://jezebel.com/5790638/the-history-of-pink-for-girls-blue-for-boys
https://www.nationalgeographic.com/magazine/2017/01/pink-blue-project-color-gender/
https://www.smithsonianmag.com/arts-culture/when-did-girls-start-wearing-pink-1370097/