ก่อนจะไปต่อ เรามาตกลงทำความเข้าใจกันก่อนดีกว่าว่า เสาเข็มต้นที่ 1 ที่เราจะตอกลงไปนั้นจะไม่มีสัญลักษณ์ตัวเลขเข้ามาเกี่ยวข้อง และจะใช้หลักการสอนแบบคิดเลขให้เป็นภาพหรือ Visual Mathematics เท่านั้น
ทำไมล่ะ แล้วสอนสัญลักษณ์ 1, 2, 3 มันไม่ดีตรงไหน?
ตอบ: ไม่ใช่ไม่ดี แต่ยังไม่ถึงเวลาค่ะ เพราะตัวเลข 1, 2, 3 นั้นคือสัญลักษณ์ พูดง่าย ๆ ก็คือเหมือน A, B, C ที่การรู้ว่า 1 อ่านว่า “หนึ่ง” นั้นเป็นการอ่าน ไม่ใช่การเข้าใจปริมาณ การเรียนผ่านสัญลักษณ์นั้นเรียกว่า Numerical Mathematics จะเป็นการเรียนหลังจากเด็กเข้าใจเรื่องปริมาณและจำนวนแล้ว ตอนนี้ฉันจึงขอตัดตัวเลขออกไปก่อนให้เหลือเพียงของที่จับต้องได้มาใช้เป็นสื่อการสอน ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นมากกว่าในช่วงเริ่มต้น
>>> เอาล่ะ!! มาเข้าเรื่องการเปรียบเทียบกันเลยดีกว่า เวลาเราจะสอนเด็กให้เปรียบเทียบ เราจะต้องมีของมากกว่า 1 อย่างเสมอ เพราะเราไม่อาจบอกได้ว่าของชิ้นนั้นใหญ่หรือเล็ก ถ้าไม่มีของอีกชิ้นมาเป็นตัวเปรียบเทียบ ลองคิดดูสิคะว่าถ้าเราเห็นส้มผลใหญ่กว่าปรกติผลหนึ่งโดยไม่มีส้มผลอื่นอยู่แถวนั้นเลย สำหรับผู้ใหญ่อย่างเรา ๆ คงเป็นเรื่องง่ายที่จะสรุปเลยว่า “ส้มนี้ผลใหญ่” เพราะเราเห็นส้มผ่านตามาแล้วในชีวิตเป็นร้อยเป็นพันผล แต่สำหรับเด็กที่ไม่ได้มีประสบการณ์มากมายอย่างพวกเรา คงเป็นเรื่องยากที่จะบอกได้ว่าอันไหนใหญ่-เล็ก สูง-เตี้ย ถ้าไม่มีของอีกอันมาเปรียบเทียบ
การเปรียบเทียบสามารถแบ่งเป็น 3 พวกใหญ่ ๆ คือ
1. การเปรียบเทียบเชิงลักษณะ เช่น ใหญ่-เล็ก, สีอ่อน-สีเข้ม เรื่องนี้เป็นเรื่องรอบ ๆ ตัว เราสามารถสอนแทรกได้ในชีวิตประจำวันตลอดเวลา เช่น “ช่วยหยิบส้มลูกใหญ่ให้แม่หน่อยสิคะ” หรือ “ช่วยส่งปากกาแท่งอ้วนให้พ่อหน่อยสิลูก”
2. การเปรียบเทียบ เหมือน-ต่าง หรือก็คือการจัดกลุ่มนั่นเอง เช่น ในการจัดกลุ่มผลไม้ เราสามารถแยกกล้วยออกจากส้มได้เพราะเรารู้ว่ากล้วยต่างจากส้มที่สี กลิ่น และรูปร่าง
3. การเปรียบเทียบเชิงปริมาณ ซึ่งก็คือ มากกว่า-น้อยกว่า นั่นเอง ปริมาณในที่นี้หมายถึง จำนวนซึ่งไม่ได้เฉพาะเจาะจงว่าเท่าใดแน่นอน เราจึงยังไม่ต้องสนใจว่า 1, 2, 3, หรือ 4 คืออะไรอย่างถ่องแท้ รู้แค่ว่ากองที่มี 4 ชิ้นนั้นมีจำนวนมากกว่ากองที่มี 1 ชิ้นก็พอ
>>> แล้วทำไมเราต้องเข้าใจการเปรียบเทียบก่อนเป็นอันดับแรก?
คำตอบง่าย ๆ ก็คือ
– เด็ก ๆ จะไม่สามารถนับส้มได้ ถ้าไม่สามารถแยกว่าส้มมีลักษณะอย่างไร หรือต่างกับกล้วยอย่างไร
– ถ้าไม่เข้าใจคำว่า “มากกว่า” และ “น้อยกว่า” ก็จะไม่มีวันเข้าใจจำนวน 1 และ 2
– ถ้าไม่เข้าใจคำว่า “มากกว่า” และ “น้อยกว่า” ก็จะไม่สามารถเข้าใจหลักการบวกเลข ว่าทำให้เกิดปริมาณที่มากกว่า
ของเล่นที่สามารถนำมาใช้สอนเรื่องการเปรียบเทียบมีเยอะแยะมากมาย ทั้งที่มีขายๆ อยู่ในตลาดก็มีเยอะมาก จะทำเองก็สามารถเอาของรอบตัวมาทำได้มากมาย แต่มีวิธีหนึ่งที่ได้ผลและทำง่ายที่สุดแถมไม่ต้องเสียตังค์เลยสักแดง ก็คือ “การตั้งคำถาม” และการแทรกเรื่องนี้เข้าไปในบทสนทนาประจำวัน ซึ่งฉันชอบอันนี้ที่สุด เพราะเด็ก ๆ จะได้เรียนรู้มากกว่าที่เรียนจากของเล่น แถมยังเป็นเรื่องที่เหมาะกับพวกเขากว่าอีกด้วย
คราวหน้าฉันจะแนะนำของเล่นและวิธีการตั้งคำถามเพื่อสอนเรื่องการเปรียบเทียบ ช่วยติดตามตอนต่อไปด้วยนะคะ