คณิตศาสตร์เป็นวิชาที่ใคร ๆ ก็บอกเป็นเสียงเดียวกันว่ายากส์ ถ้าจะพูดให้ตรงกว่านั้นก็คือคนส่วนใหญ่เกลียดเลข แล้วก็ไม่ได้เพิ่งมาเกลียดนะ เกลียดกันมาตั้งแต่ยังเป็นเด็กโน่นแน่ะ เหตุผลที่ได้ยินอยู่เป็นประจำก็คือยาก ไม่เห็นจะเข้าใจเลย ซับซ้อนจัง สุดท้ายก็จะพูดกันว่า ไม่รู้ว่าจะเรียนไปทำไม ไม่เห็นได้ใช้เลย ส่วนใหญ่คนที่เริ่มพูดแบบนี้จะเป็นพวกถอดใจกับคณิตศาสตร์แล้ว แนวว่าไม่ได้ใช้ทำไม่ต้องเรียน และก็จบที่ ไม่เรียนดีกว่า คำถามคือ ทำไมคนถึงเกลียดเลข มันเป็นวิชาต้องคำสาปหรืออย่างไร
ก่อนจะไปต่อ ขออวดอย่างหนึ่งสิว่าฉันและพี่น้องเป็นกลุ่มท๊อปเลข เรียกได้ว่าที่เอ็นติดมาได้ก็เพราะวิชานี้นี่และ พอมาออกแบบของเล่นก็มาตกหลุมรัก mathematic toys หรือของเล่นแนวคณิตศาสตร์เข้าให้ สิ่งที่ฉันพบจากการศึกษาและพัฒนาของเล่นสื่อการสอนมาตลอด 20 ปีนี้ก็คือ คณิตศาสตร์ระดับประถมเป็นการเรียนรู้แบบต่อเนื่อง หมายความว่าต้องเข้าใจองค์ 1 ก่อนจึงจะกระเถิบไปองค์ 2, 3, 4 ได้ เช่นต้องเข้าใจเรื่องปริมาณก่อนจึงจะเข้าใจเรื่องจำนวน และค่อยเขยิบไปบวกและลบ ไม่เหมือนวิชาประเภทสังคมที่เราอาจไม่ต้องเข้าใจประวัติศาสตร์ไทยถ่องแท้ แต่ก็สามารถเข้าใจประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นได้
ทีนี้จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเราไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ (ศัพท์เทคนิคเรียกว่า master) แล้วเขยิบไปเรียนองค์ถัดไป คำตอบก็คือมันจะเกิดปัญหาสะสมและกัดกินใจเด็กไปทีละนิด จนในที่สุดก็เกิดเป็นปรากฏการณ์ “หนูเกลียดเลข” แบบที่เราเห็น ๆ อยู่ทุกวันนี้นั่นเอง
เรื่องพวกนี้หากไม่สังเกตุจริง ๆ อาจมองข้ามไปได้ง่าย ๆ เช่น
– เด็กนับเลขได้ ก็คิดว่าเขาเข้าใจเรื่องจำนวนแล้ว
– เด็กบวกเลขง่าย ๆ ได้ก็ผลักให้เขาเข้าสู่การคูณ (ฉันเจอเด็กคนหนึ่งบวกเลขเร็วมากๆๆ แต่พอทดสอบและสอบถามไปเรื่อย ๆ ปรากฏว่าเขาใช้วิธีจำผลบวกเอา)
>>> หัวใจสำคัญของการเรียนเลขที่ได้ผลก็คือ การปูพื้นฐานที่แข็งแกร่ง อย่ากลัวเสียเวลากับการก่อเสาเข็มเลขคณิต ครั้งต่อไปฉันจะเอาเทคนิคพื้นฐานมาฝากสำหรับการตอกเสาเข็มที่ 1 ว่าด้วยเรื่องของการเปรียบเทียบ
ติดตามชมด้วยนะคะ