Site Overlay

คิดเลขให้เป็นภาพ (ตอนที่ 3): ของเล่นสอนการเปรียบเทียบ

Previous
Next

จากตอนที่แล้ว เรารู้แล้วว่าก้าวแรกของการเรียนคณิตศาสตร์คือ ต้องเข้าใจเรื่องการเปรียบเทียบเสียก่อน 
แต่จะทำอย่างไรให้เด็ก ๆ เข้าใจเรื่องการเปรียบเทียบ วันนี้ฉันมีข้อตกลงอีกหนึ่งข้อ และเคล็ดลับอีกมากมายมาฝากดังนี้ค่ะ

ข้อตกลงก่อนเล่น >>> มาพูดถึงข้อตกลงกันก่อน เนื่องจากเด็กช่วงเรียนรู้เรื่องการเปรียบเทียบจะเป็นเด็กเล็กตำ่กว่า 3 ขวบ เขาจะเรียนรู้จากการลองผิดถูกและการทำซ้ำ ซึ่งพ่อแม่จะต้องอดทนและเข้าใจ ให้โอกาสเขาลองแก้ปัญหาด้วยตัวเอง ให้ท่องคาถาไว้เลยว่าไม่มีเด็กคนไหนตายถ้าเขาใส่ของเล่นผิดช่อง โยงภาพผิด หรือระบายสีออกนอกกรอบ แต่นั่นคือกระบวนการเรียนรู้ คุณเองก็เคยเป็นแบบนั้นมาก่อน เพราะฉนั้นไม่มีอะไรต้องห่วง แต่ถ้าคันไม้คันมือ เห็นลูกทำยังไงก็ไม่ได้สักที ลองนับหนึ่งถึงยี่สิบแล้วค่อยยื่นมือเข้าไปช่วยก็แล้วกันนะคะ

โอเค!! ทีนี้เรามาเข้าในส่วนเคล็ดลับกัน

เคล็ดลับที่ 1 คือการเลือกของเล่น และทำของเล่นเอง
เคล็ดลับที่ 2 คือการสร้างบทสนทนา เพื่อกระตุกต่อมคิด

บล็อกไม้ หรือที่เรียกกันเต็ม ๆ ว่า Unit Block สำหรับฉันมันเปรียบได้กับของเล่นสามัญประจำบ้านที่ทุกบ้าน (ที่มีเด็ก) ควรจะมีไว้สักชุด ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าบล็อก 1 ชุดสามารถเล่นได้หลายอย่าง และเด็ก ๆ ก็จะสามารถเรียนรู้อะไรได้มากมายจากการเล่นบล็อก ซึ่งในที่นี้เราจะเอามาใช้สอนเรื่องการเปรียบเทียบ
ด้วยความที่บล็อกจะมีขนาดเป็นสัดเป็นส่วนกัน ทำให้นอกจากจะสามารถสังเกตุเปรียบเทียบเรื่อง ใหญ่-เล็ก สูง-เตี้ย บาง-หนา ฯลฯ ได้ง่ายแล้ว ยังสามารถใช้สอนเรื่องบวก-ลบ เรื่องเศษส่วน และเรื่องการคูณได้อีกด้วย

ตาชั่ง จะแปลงสิ่งที่เราต้องการเปรียบเทียบออกมาเป็น ”ภาพ” ให้เห็นอย่างชัดเจน เคล็ดลับก็คือ เราต้องเตรียมของที่ทำจากวัสดุเดียวกันมาให้ชั่ง ในที่นี้ฉันแนะนำให้ใช้ไม้บล็อก เพราะหาง่ายและมีน้ำหนักพอประมาณ
ที่ต้องให้หาของจากวัสดุเดียวกันก็เพราะ เวลาเอาไปชั่งนอกจะได้เห็นว่าอันไหนหนักกว่าแล้ว ยังได้เปรียบเทียบว่าของใหญ่กว่าจะหนักกว่าด้วย และหลังจากเด็ก ๆ เริ่มสังเกตุเห็นจุดนี้ เขาก็จะเริ่มตั้งและทดสอบสมมติฐาน เพื่อหาข้อสรุปด้วยตัวเอง

ของเล่นจำพวกเสาใส่หมุด ประเภทที่เด็กสามารถเอาวงแหวนไม้ หรือบอลเล็กๆ เสียบเข้าไปในเสาได้ ยิ่งใส่เยอะก็ยิ่งสูงขึ้น ถ้าซื้อมาเป็นแบบมีหลายเสา เวลาเล่นก็จะเห็นว่าเด็ก ๆ จะได้เรียนรู้เรื่องการเพิ่มขึ้น ลดลง มากกว่า น้อยกว่า พอเราสอนเรื่องจำนวนหรือการนับเลข เขาก็จะเข้าใจได้ง่ายขึ้น

Nesting Toy หรือของเล่นแบบสามารถใส่ของชิ้นเล็กเข้าไปในของชิ้นใหญ่ขึ้น ๆ เรื่อย ๆ

Nesting Toy มีหลายรูปแบบ มีทั้งเป็นตุ๊กตาแบบ Rusian Doll แบบที่เป็นถังทรงกระบอก หรือแบบที่เป็นกล่องสี่เหลี่ยม ถ้าคุณพ่อคุณแม่อยากจะได้ของเล่นแบบนี้สักอัน สำหรับฉันแล้วขอแนะนำให้ซื้อแบบเป็นกล่อง เพราะสามารถเล่นได้หลายรูปแบบ จะเล่นแบบเอากล่องเล็กใส่กล่องใหญ่ หรือจะเล่นวางกล่องใหญ่เป็นฐานแล้วค่อย ๆ เอากล่องขนาดเล็กมาวางซ้อนเรื่อย ๆ ซึ่งการเล่นทั้งสองแบบนี้จะทำให้เด็กเข้าใจคำว่าใหญ่เล็ก และสามารถลำดับขนาดของกล่องได้ และถ้าเขาสามารถเรียงลำดับขนาดได้ ก็แสดงว่าเขาเข้าใจอย่างถ่องแท้แล้ว ที่สำคัญพอลูกโต ไม่อยากเล่นแล้ว เราสามารถเอามาใช้เป็นกล่องใส่ของได้ ประหยัดไปอีก

นอกจากนี้ฉันแอบเห็นว่าหลาย ๆ บ้านมีของเล่นประเภทนี้อยู่ เป็นแบบพลาสติก ฉันจึงขออนุญาตแนะนำวิธีเล่นอีกรูปแบบหนึ่งคือการเอาไปเล่นกับน้ำหรือทราย เวลาที่เด็ก ๆ ตวงทรายหรือน้ำแล้วเทไปเทมา เขาจะเห็นว่าเวลาเทน้ำจากกล่องเล็กไปกล่องใหญ่ก็จะเหลือที่ว่าง ต่างจากเวลาเทจากกล่องใหญ่ไปกล่องเล็ก น้ำจะล้นออกมา หรือว่าจะเอามาเล่นก่อปราสาททรายก็ได้ อันนี้จะได้เรื่องภาษาและจินตนาการไปด้วย เรียกว่า ลูกฟิน แม่คุ้ม แฮปปี้ทั้งสองฝ่ายค่ะ

หลอดสั้นหลอดยาว:
หลอดเป็นของหาง่ายราคาถูกและดัดแปลงเป็นของเล่นได้ง่าย ๆ คุณลองเอาหลอดแบบสั้นและยาวอย่างละ 10 อันมาผสมกันสิคะ แล้วให้ลูกแยก หลอดสั้นใส่แก้วเตี้ย หลอดยาวใส่แก้วสูง ยิ่งถ้ามีหลอดหลายสี ให้เด็กเล่นแยกหลอดตามสีได้อีกด้วย

บทสนทนาระหว่างทานข้าว:
คือปรกติแล้วเด็ก ๆ จะมีชุดจานชามแก้วเป็นของตัวเองซึ่งจะเล็กกว่าของผู้ใหญ่ หลาย ๆ บ้านจะเรียกของพวกนี้ว่าจานน้องเอ ช้อนน้องบี ซึ่งถ้าเราลองเปลี่ยนเป็น จานเล็กของคนตัวเล็ก จานใหญ่ของคนตัวใหญ่ แบบนี้จะดีกว่า และทำให้ได้ประโหชน์ 2 ทาง คือ
1. เรื่องขนาดใหญ่-เล็ก และเหตุผลสัมพันธ์ว่าทำไมเขาถึงได้จานเล็ก และพ่อแม่ได้จานใหญ่ซึ่งต่างจากเขา
2. เรื่องการไม่เป็นเจ้าของ เวลาเราตั้งชื่อของตามเจ้าของ จะทำให้เกิดความรู้สึกถึงความเป็นเจ้าข้าวเจ้าของตามมาด้วย พอเด็กเริ่มโต เริ่มรู้เรื่องก็จะมีความคิดนี้ติดไปว่า จานนี้ของฉัน เก้าอี้นี้ของฉัน อันโน้นก็ของฉัน อันนี้ก็ของฉัน ทีนี้ต้องมาปวดหัว นั่งปรับทัศนคติกันใหม่อีกเรื่องการแบ่งปัน ฉันเลยคิดว่าใช้คำพูดที่ไม่แสดงความเป็นเจ้าของเสียตั้งแต่ตอนแรกจะดีกว่า (แต่ขอออกตัวไว้ก่อนนะคะว่า ข้อนี้เป็นเทคนิคที่เกิดจากประสบการณ์ล้วน ๆ และใช้ได้ผลมาแล้ว)

เอาเป็นว่า วันนี้พอแค่นี้ก่อนนะคะ ไว้คราวต่อไปเราจะมาตอกเสาเข็มที่สองด้วยกัน ติดตามชมด้วยนะคะ