Site Overlay

รูปแบบการเล่น (form of play) ตอนที่ 5: เด็กอายุ 3 ปีขึ้นไป – 3

Previous
Next

ของเล่นที่มี “ผิด” และ “ถูก”

คราวที่แล้วเราคุยกันไปแล้วว่า ของเล่นที่ไม่มี ผิด-ถูก หรือของเล่นแบบ “ปลายเปิด” นั้น มีส่วนช่วยสร้างบุคลิกแบบนักคิดสร้างสรรค์ให้กับเด็กที่ชอบและได้เล่นของเล่นแนวนี้เป็นประจำ จากนั้นคำถามก็คือ…

แล้วของเล่นจำพวกที่มีคำตอบเดียว ทำอย่างนั้นจะผิด ทำอย่างนี้จะถูก นั้นไม่ดีหรือ จำกัดความคิดสร้างสรรค์หรือ?

คำตอบก็คือ ของเล่นที่มีถูกมีผิดนั้น มันก็มีข้อดีของมัน เพราะของเล่นพวกนี้ส่วนใหญ่แล้วจะเอาไว้สอนหลักการต่าง ๆ ให้เด็กเข้าใจ และใช้เป็นพื้นฐานในการเรียนรู้ต่อ ๆ ไป เช่นการเรียนรู้รูปทรงเรขาคณิต ซึ่งเด็ก ๆ จะต้องนำรูปทรง ไปวางในจุดที่ถูกต้อง และจะมีคำตอบเดียวที่ถูก คือ สี่เหลี่ยมคู่กับสี่เหลี่ยม วงกลมคู่กับวงกลม เป็นต้น ถ้าเด็กจะใส่สี่เหลี่ยมลงไปในช่องวงกลมก็จะใส่ไม่ได้ เมื่อเขาทดลองทำซ้ำไปมา เขาก็จะเข้าใจว่า วงกลม และ สี่เหลี่ยม นั้นมีลักษณะต่างกัน และหากเด็กได้ทดลองต่อไปเรื่อย ๆ เขาก็จะพบคำตอบและเข้าใจความแตกต่างของรูปทรงต่าง ๆ ไปเอง การเล่นลักษณะนี้จึงมีความสำคัญไม่แพ้การเล่นไม้บล๊อค หรือการต่อเลโก้ ที่เป็นของเล่นปลายเปิด ไม่มีผิด – ถูก

แต่ผลของการเล่น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับของเล่นแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังขึ้นอยู่กับผู้ใหญ่อย่างเรา ๆ ที่เล่นกับเขาด้วย คำพูดของเรา น้ำเสียง การตอบคำถาม หรือแม้กระทั่งสีหน้าของเรา เด็ก ๆ รับรู้และจดจำได้หมด เราคงไม่อยากใส่ความทรงจำแย่ ๆ หรือความรู้สึกที่ไม่ดีลงไปในสมองของเด็ก ๆ หรอกเนอะคะ ถ้าอย่างนั้นต้องมาหัดพูดและคิดเชิงบวกกันหน่อยแล้ว

ไว้ต่อไปจะเอาเคล็ดลับมาบอกอีกนะคะ