Site Overlay

รูปแบบการเล่น (form of play) ตอนที่ 3: เด็กอายุ 3 ปีขึ้นไป – 1

Previous
Next

วัย 3 ขวบเป็นวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงเยอะมาก เขาเริ่มเป็นตัวของตัวเอง รู้และสามารถสื่อสารได้ว่าเขาชอบหรือไม่ชอบอะไร อยากหรือไม่อยากทำอะไร เขาเริ่มสามารถใช้ร่างกายได้ตามใจสั่ง บ่อยครั้งเราจึงเห็นเด็กหลาย ๆ คนร้องขอ อยากทำอะไรต่อมิอะไรด้วยตัวเอง

“หนูจะอาบน้ำเอง”
“ผมจะกินข้าวเอง”
“วันนี้หนูจะใส่เสื้อตัวนี้นะ”

พฤติกรรมอีกอย่างที่เห็นได้ชัดว่าเขาเปลี่ยนไปคือพฤติกรรมการเล่น จากที่เคยหมกมุ่นเล่นอยู่คนเดียว หรือคอยแอบดูคนอื่นว่าเล่นอะไรอย่างไร ช่วงนี้เขาจะกลายเป็นเด็กสังคมจัดขึ้นมาทันที เขาจะชอบเล่นกับเพื่อน โดยเฉพาะที่อยู่ในวัยเดียวกัน หรือถ้าต้องเล่นกับเด็กโตกว่าก็จะยอมเป็นลูกกระจ๊อกอย่างเต็มใจ แนวว่าขอให้ได้เล่นด้วยเถอะ ฉันยอมทุกอย่าง

การเล่นร่วมกันของเด็กวัย 3 ขวบขึ้นไป ถือเป็นก้าวใหญ่ของการพัฒนาทักษะทางสังคม ว่าจะอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างไร จะต่อรองเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่เราต้องการอย่างไร และจะทำใจอย่างไรถ้าเราไม่ได้มัน ซึ่งช่วงแรก ๆ อาจจะทุลักทุเลหน่อย เล่นกันไม่เท่าไหร่ก็ตีกันแล้ว แต่ขอให้เรา ๆ ผู้ใหญ่อดทนสักนิด ปล่อยให้เขาได้ลองผิดลองถูก ฝึกทักษะการอยู่ร่วมกันเหล่านี้ด้วยตัวเองก่อน อย่าเพิ่งเข้าไปแทรกจนกว่าจะ

1. เกิดการลงไม้ลงมือรุนแรง (ถ้าไม่มากมายอะไร ไม่ถึงขั้นเลือดตกยางออกก็ลองอดใจดูหน่อยก็ได้)
2. เมื่อเห็นว่าเกิดการเอาเปรียบกันบ่อย หรือมากเกินไป ถึงแม้เพื่ออีกฝ่ายจะยอม แต่เขาควรจะรู้ว่าการอยู่ร่วมกันนั้น ต้องรู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา และถ้อยทีถ้อยอาศัย

ถ้าเราตัดสินใจจะเข้าไปห้ามทัพแล้ว มีอะไรบ้างที่ต้องคำนึงถึง?

1. ทำใจให้นิ่งก่อนเข้าไปเจรจา อย่าตัดสินความรุนแรงด้วยความรุนแรง เด็ก ๆ เป็นเหมือนฟองน้ำ เขาจะซึมซับทุกอย่างจากเรา ถ้าเราเข้าไปกระชากตะโกนด้วยอารมณ์ เด็กก็จะเรียนรู้ว่าครั้งต่อไป เขาควรจะใช้วิธีนี้ด้วยเช่นกัน
2. เวลาเข้าไปคุย ควรที่จะนั่งในระดับเดียวกับเขา พูดและมองตาเขาไปด้วย เพื่อให้มั่นใจว่าเขาฟังและเข้าใจ นอกจากนี้ยังเป็นภาษากายที่ทำให้เขารู้ด้วยว่าเราจริงจังกับเรื่องที่พูด

แล้วจะเลือกอะไรมาให้เขาเล่นดี?
มีของเล่นมากมายที่เหมาะกับเด็กวัยนี้ และสามารถช่วยฝึกทักษะด้านสังคมได้ดีมาก ๆ คราวนี้ฉันยกตัวอย่างการเล่นบทบาทสมมติเพียงตัวอย่างเดียว แต่คราวต่อไปจะแนะนำของเล่นที่หลากหลายมากขึ้นนะคะ