Site Overlay
Previous
Next

อาทิตย์ที่ผ่านมานี้ มีข่าวใหญ่ข่าวหนึ่งในวงการของเล่น เมื่อบริษัทเลโก้ออกมาประกาศว่า จะตัดของเล่นที่มี gender stereotype หรือของเล่นที่สร้างภาพจำเพศหญิง-ชายออก พร้อมเปิดเผยผลวิจัยสนับสนุนการตัดสินใจนี้

สถาบันจีนาเดวีส์ ทำการสำรวจผู้ปกครองและเด็ก 7,000 คนในสหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเช็ก โปแลนด์ และรัสเซีย และพบข้อมูลหลายอย่างที่น่าสนใจ เช่น

เรื่องอิสระในการเล่น
– พบว่าเด็กผู้หญิงมีความมั่นใจและอินกับการเล่นที่หลากหลายบทบาทมากกว่า ในขณะที่เด็กผู้ชายถึง 71% กลัวการถูกล้อเลียนหากเล่นของเล่นที่สังคมตีตราว่าเป็นของเด็กหญิง
– พ่อแม่ของเด็กผู้ชายมักผลักดันให้ลูกเล่นกีฬา หรือของเล่นจำพวก STEM (เช่น ตัวต่อประกอบ) ส่วนเด็กหญิงก็จะได้เรียนเต้น แต่งตัว และทำอาหารมากกว่า

อคติและความกังวล
– พ่อแม่เองก็มีความกังวลเมื่อเห็นลูกผู้ชายเล่นของเล่นที่สังคมตีตราว่าเป็นของเด็กหญิง
– พ่อแม่ของเด็กไม่ว่าจะเพศใด ยังมีทัศนคติว่า เด็กผู้ชายจะมีความคิดสร้างสรรค์มากกว่า และอาชีพบางอาชีพเป็นของบางเพศ เช่น วิศวกรกับเพศชาย

จริงๆ แล้วสิ่งที่พ่อแม่มองข้ามไป คือ โอกาสในการเล่นที่ถูกจำกัดจากทัศนคติและความกลัวนั้น ส่งผลเป็นอย่างมากทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

ในระยะสั้นเด็กๆ อาจขาดโอกาสได้ประสบการณ์และทักษะบางอย่างที่จำเป็นผ่านการเล่น เช่น เด็กหญิงที่ไม่ได้เล่นบล๊อกไม้ ตัวต่อประกอบ หรือวิ่งเล่นกีฬา จะมีโอกาสฝึกทักษะด้านมิติสัมพันธ์น้อยกว่า ซึ่งส่งผลต่อวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ หรือเด็กผู้ชายที่ไม่ได้เล่นตุ๊กตา สร้างเรื่องราว กอดให้ความรักตุ๊กตา ก็จะมีโอกาสฝึกทักษะด้านสังคม อารมณ์ และภาษาน้อยกว่า ส่งผลต่อความฉลาดด้านนั้นด้วย
เมื่อเด็กเริ่มมีทักษะด้านใดด้านหนึ่งมากกว่า ก็จะส่งผลต่อการเรียน และอาจส่งผลต่อทัศนคติที่มีต่อวิชานั้นๆ ด้วยเช่นกัน

ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะส่งผลในระยะยาว เด็กๆ เหล่านั้นก็จะเลือกอาชีพที่ตนเองถนัด หรือมีทัศนคติที่ดี ทั้งๆ ที่แท้จริงแล้ว เนื้อแท้เขาเองอาจมีศักยภาพและความฉลาดในอีกด้านแบบที่ตัวเองนึกไม่ถึงก็ได้

อีกทั้งทักษะทุกอย่างมีความสำคัญเท่ากันหมด และมนุษย์ก็ความสามารถที่จะเก่งรอบด้านได้ การแบ่งคนออกเป็นสายวิทย์ สายศิลป์เป็นเรื่องที่เชยและไม่เป็นจริงแล้วในปัจจุบัน

ข้อเท็จจริงอีกอย่างคือ ของเล่นที่ถูกแบ่งเป็นสำหรับหญิงหรือชายนั้น หากเรากลับไปดูประวัติศาสตร์ของเล่นจริงๆ แล้ว ล้วนมาจากความคิดเชิงการตลาด และความเชื่อของสังคมแทบทั้งสิ้น ปัจจุบันสังคมมีความหลากหลายและเปิดกว้างมากขึ้น การแบ่งแยกแบบนั้นจึงถูกนำมาคิดและถูกปฏิวัติ ปรับเปลี่ยนเสียใหม่

เช่น บ. เลโก้จะไม่มีคำค้นหาว่า “for boys” หรือ “for girls” บนเว็บไซต์อีกแล้ว แต่จะเปลี่ยนเป็น “Passion Points” แทน ซึ่งแอดมินคิดว่าสมเหตุสมผลเลยทีเดียว คุณพ่อคุณแม่ลองหันใช้วิธีนี้ในการเลือกของเล่นให้ลูกๆ ดูก็ไม่เลวเลยนะคะ

สนใจอ่านต่อได้ที่
https://www.theguardian.com/lifeandstyle/2021/oct/11/lego-to-remove-gender-bias-after-survey-shows-impact-on-children-stereotypes?fbclid=IwAR1Dmp_4IAl8LzaiJWeAM1weqOPBUnqjXLzCg6wEz4OVPKT9MBGVy5HVvSM
https://www.washingtonpost.com/world/2021/10/12/lego-eliminates-gender-bias-stereotypes/
https://www.lego.com/en-us/aboutus/news/2021/september/lego-ready-for-girls-campaign/