แอดมินได้แรงบันดาลใจในการเขียนเรื่องนี้จากประสบการณ์ที่ได้ไปออกแบบของเล่นให้ผู้สูงอายุในประเทศเยอรมัน กลุ่มผู้สูงอายุที่ได้ทำงานด้วยจะเป็นกลุ่มที่แก่มาก และมีปัญหาด้านความทรงจำ ตอนนั้นแอดมินก็ได้เจอกับผู้สูงอายุ 2 คนที่มีพฤติกรรมชวนสงสัย
คนที่ 1 เวลาเรายื่นมือให้เขาจับ เขาจะบีบนิ้วมือของเรา แบบบีบแล้วคลายเป็นระยะๆ พอได้คุยกับพยาบาลก็พบว่า คุณตาคนนั้นเคยเป็นคนรีดนมวัว ทุกครั้งที่จับมือแก แกจะทำแบบนี้โดยอัตโนมัติ
คนที่ 2 จะนั่งเล่นของเล่นไม้ที่มีลักษณะเป็นแผ่นไม้เจาะเป็นรูๆ และมีเชือกให้ร้อยแผ่นไม้ คล้ายกับการเย็บผ้า ซึ่งพยาบาลบอกว่าคุณยายคนนี้เคยเป็นแฟชั่นดีไซน์เนอร์ ทุกวันแกจะหยิบแผ่นไม้นี้มาร้อยไปร้อยมาแบบนี้แหละ
สิ่งที่แอดมินได้เห็นทำให้ได้ตระหนักถึงพลังแห่งความทรงจำและประสบการณ์ หลังจากนั้นเมื่อได้ร่วมงานกับ ศาสตราจารย์นายแพทย์ ประเสริฐ บุญเกิด ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยา และเล่าเรื่องนี้ให้แกฟังก็ถึงบางอ้อ แกบอกว่าการเก็บความจำของสมองก็เหมือนต้อนฝูงแกะเข้าคอก แกะตัวที่เข้าก่อนจะออกเป็นตัวสุดท้าย นั่นหมายความว่าสิ่งที่เราให้กับเด็ก ๆ ในวันนี้ จะถูกจดจำไปตลอดชีวิต…
ถ้าเป็นอย่างนี้เราจะละเลยทุกนาทีของวัยเด็กไม่ได้แล้วต้องรีบบริหารความทรงจำ แต่จะทำอย่างไร แอดมินมีวิธีง่าย ๆ ที่ต้องจำให้ขึ้นใจ คือ การมอบประสบการณ์ที่หลากหลายให้แก่เขา ไม่ว่าจะสุข ทุกข์ ทุกประสบการณ์นั้นมีค่า และก็เป็นเรื่องที่สำคัญมากที่เด็ก ๆ ควรจะได้เห็นอะไร ลองอะไรที่หลากหลาย ทั้ง หนังสือ อาหาร สถานที่ ฯลฯ ยิ่งมีประสบการณ์มาก ยิ่งมีข้อมูลเก็บใส่คลังสมอง ประสบการณ์เหล่านี้จะกลายมาเป็นข้อมูลในการตัดสินใจต่อไปในอนาคต ลองคิดดูสิคะว่าถ้าไม่เคยหกล้มเลย (หรือหกล้มแต่บนฟูก) จะรู้จักไหมว่าเจ็บ จะระวังตัวไหมเวลาวิ่งครั้งต่อไป
แต่ไม่ได้หมายความว่าปล่อยปละละเลยให้เขาทำอะไรก็ได้นะคะ แค่อยากให้คุณพ่อคุณแม่เข้มแข็ง และปล่อยให้เขาเรียนรู้จากความผิดพลาดบ้าง หรือบางทีเราอาจจะแปลกใจก็ได้ว่าสุดท้ายแล้ว เขาสามารถจัดการกับปัญหาได้ดีกว่าเราเสียอีก