เคยไหมคะที่คิดว่าขอลองเล่นแค่หนึ่งเกม ไป ๆ มา ๆ ก็ติดกับเข้าอย่างจัง รู้ตัวอีกทีก็ปาเข้าไป 3-4 ชั่วโมงแล้ว จริง ๆ แล้วเหตุการณ์แบบนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่แปปลกอะไรเลยค่ะ เพราะเกมต่าง ๆ เหล่านั้น ถูกออกแบบมาเพื่อให้เราเสพติด!! ใช่แล้วค่ะ เสพติดเหมือนกับที่เราติดเหล้า ติดยา ติดการพนันนี่แหละ การที่นักออกแบบทำอย่างนั้นได้ ก็เพราะเขาเข้าใจการทำงานของสมองและจิตใจ แล้วเอามันมาใช้ประโยชน์ในทางธุรกิจได้เป็นอย่างดีเลยค่ะ
เกมถูกออกแบบมาให้คุณเสพติดตั้งแต่วันแรกที่เล่น สังเกตุไหมคะ เวลาคุณเริ่มเล่นเกมอะไรสักเกม เกมแรกที่คุณเล่น มันจะง๊ายง่าย คุณจะเอาชนะมันได้ภายใน 5-10 นาที และนี่ก็เป็นกับดักแรกที่นักออกแบบล่อให้เหยื่อเข้ามาติดกับ ภาพจำแห่งความสำเร็จจะตราตรึงอยู่ในหัวใจ ความสุขว่า “เราทำได้” ทำให้โดพามีนซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่หลั่งเมื่อเราเกิดความสุขหรือความพอใจและต้องการทำกิจกรรมนั้นอีกถูกหลั่งออกมา
แต่ถ้าหากทุกอย่างมันง่ายไปหมด เล่น ๆ ไปรับรองได้เลยว่าเบื่อแน่นอน ซึ่งนักออกแบบก็เข้าใจเรื่องนี้ดี เขาจึงออกแบบให้มันยากขึ้น ท้าทายขึ้น ทำให้เราอยากเอาชนะ โดยมีภาพจำแห่งความสำเร็จฉายในสมอง ความต้องการที่จะรู้สึกดี ๆ แบบนั้นอีก (โดพามีน) ทำให้เรายังตั้งหน้าตั้งตาเล่นต่อไป บางเกมเช่น candy crush ที่คนติดกันหลายสิบล้านคน ใช้กลไกการออกแบบเดียวกับ slot machine คือการชนะหรือแพ้ด้วยดวง เพราะขึ้นอยู่กับสีของลูกอมที่ตกลงมา มันเป็นดวงที่เรารู้ว่ามีความน่าจะเป็นมีมากพอที่เราจะเอาชนะได้ ยิ่งไปกว่านั้น ปัจจัยที่ทำให้ชนะได้อีกอย่าง คือฝีมือการเล่น และเมื่อเราได้ถูกโปรแกรมใส่ในหัวแล้วว่า “เราทำได้!” ทีนี้จะแปลกอะไรที่คนเป็นสิบ ๆ ล้าน มุมานะเล่นกันเป็นปี ๆ ขนาดผู้ใหญ่อย่างเรา ๆ ที่คิดว่าตัวเองเข้มแข็งพอ หลายคนก็เสียเงินให้กับเกมนี้ไปแล้วมิใช่น้อย
แล้วการเสพติดที่ว่านี่มันรุนแรงแค่ไหน?
เพื่อที่จะตอบคำถามนี้ แอดมินอยากนำเราไปดูการทดลองในหนู ที่นักวิทยาศาสตร์ได้ต่อวงจรในสมองหนู เมื่อหนูกดปุ่มก็จะรู้สึกตื่นเต้น-สุขใจ ปรากฏว่าหนูเหล่านั้นถูกกระตุ้นด้วยปุ่มนี้ มันกดปุ่มซ้ำๆๆๆๆ ไม่เป็นอันกินอันนอน จนล้มพับไปในที่สุด ซึ่งก็ไม่ต่างอะไรกับคนที่ติดเกมมากๆๆๆ จนมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต แอดมินลองค้นถามอากู๋ดูก็พบว่า มีคนจำนวนหนึ่งเสียชีวิตจากการติดเกม ถึงแม้จำนวนจะไม่มากเมื่อเทียบกับกลุ่มผู้เล่นเกมทั่วโลกทั้งหมด แต่แอดมินคิดว่ามันน่าตกใจ เพราะเมื่อมาคิดว่า
1. เกิดอะไรขึ้นกับคนเหล่านี้นะ ทำไมเกมถึงได้ทำให้พวกเขาอดกินอดนอนได้ทั้ง ๆ ที่การกินการนอนนั้น เป็นปัจจัยพื้นฐานที่มนุษย์ต้องการ ความรู้สึกระหว่างเล่นเกมมันต้องมีพลังมากแน่ ๆ
2. แต่ถ้าเกมมันทรงพลังขนาดนั้น ทำไมมนุษย์อีกตั้งมากมาย ไม่เป็นแบบเขา
คำตอบที่ได้หลังจากค้นคว้าจากหลาย ๆ แหล่งข้อมูลก็คือ สิ่งสำคัญมาก ๆ ที่มนุษย์ต้องการคือความรักและสังคม สองอย่างนี้ทรงพลังซะยิ่งกว่าสารเสพติดใด ๆ ในโลกเสียอีก ระหว่างสงครามเวียดนาม ทหารอเมริกันมากกว่า 20% ใช้เฮโรอีนกันเป็นเรื่องปรกติ แต่เมื่อสงครามจบทหารเล่านั้นกลับถึงบ้าน ทหารประมาณ 95% สามารถเลิกยาได้อย่างไม่มีปัญหา มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ต้องเข้ารับการบำบัดเพื่อเลิกยาเสพติด ซึ่งจะไปตรงกับการทดลอง Rat Park ที่เมื่อย้ายหนูที่เสพติดยาไปอยู่ในสวนสนุกหนูซึ่งเต็มไปด้วยของเล่นและเพื่อน ปรากฏว่าหนูตัวนั้นถึงแม้จะมีอาการถอนยาบ้าง แต่มันก็สามารถเลิกใช้ยาได้ในที่สุด
ทั้งเรื่องทหารอเมริกันและหนูในสวนสนุกได้ทำให้เราเข้าใจการเสพติดมากขึ้น ว่าจริง ๆ แล้ว พื้นฐานที่มนุษย์ต้องการนั้นไม่ใช่ความสุขชั่วครั้งคราวที่เกิดจากสารเสพติดหรือการเล่นเกม แต่มันคือความรักความผูกพันระหว่างมนุษย์ด้วยกัน และเมื่อเราเห็นเด็ก ๆ ติดเกม เราก็จะเข้าใจได้ว่าตัวเราเองในฐานะพ่อ-แม่ สามารถดึงเด็กออกมาจากสถานการณ์นั้นได้อย่างไม่ยากเลย เพราะสิ่งที่เด็ก ๆ ต้องการจริง ๆ แล้ว มันคือเวลาที่มีคุณภาพกับครอบครัวมากกว่าการนั่งหลังขดหลังแข็งเล่นเกม
#เล่นจนได้เรื่อง #เกม #เสพติด #รางวัล
ข้อมูลอ้างอิง
https://thaipublica.org/2015/01/cause-of-addiction-may-not-what-we-think/
book>> the pleasure center: trust your animal instincts
https://www.psychologistworld.com/biological/neurotransmitters/dopamine
https://www.popsci.com/who-video-game-disorder-addiction#page-3
https://www.theguardian.com/science/blog/2014/apr/01/candy-crush-saga-app-brain
https://www.psychologytoday.com/intl/blog/behind-online-behavior/201508/why-are-the-candy-crushes-the-world-dominating-our-lives
https://www.matthewwoodward.co.uk/tips/marketing-dopamine-control/
https://www.youtube.com/watch?v=sbQFNe3pkss